หน้าเว็บ

CHARGE AND SHARE


หุ้นของบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐนั้น บางบริษัทก็มีกำไรโดดเด่นน่าประทับใจมาก แต่บางบริษัท กลับมีผลการดำเนินงานย่ำแย่ทั้งๆ ที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะฝีมือการบริหารงาน ของผู้บริหาร แต่เกิดจากความแตกต่างของสัญญาสัมปทาน เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ค่า CHARGE หรือค่าธรรมเนียม ที่บริษัทผู้รับสัมปทานต้องจ่ายให้กับผู้ให้สัมปทาน
ดังนั้น นักลงทุนที่คิดจะลงทุนในหุ้นของบริษัทสัมปทานจะต้องศึกษาสัญญาสัมปทานให้ดี นอกจากศึกษาแล้ว ก็ยังต้องติดตามการบังคับใช้และการที่สัญญาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุใดก็ตาม เพราะมูลค่าของหุ้นสัมปทานนั้น บางที 70-80% อาจจะมาจากข้อตกลงในสัญญา มีส่วนน้อยเท่านั้นที่มาจากตัวธุรกิจ เพราะกิจการที่ต้องอาศัยสัมปทานนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็มักเป็นกิจการที่ผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดซึ่งผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้ พูดง่ายๆ ถ้าได้สัมปทานที่ดี และจ่ายค่าธรรมเนียมน้อยแล้วละก็ กิจการก็เป็นเสือนอนกิน
กรณีของหุ้น ITV เป็นตัวอย่างที่พิสูจน์คำกล่าวข้างต้นอย่างสมบูรณ์ที่สุด ITV นั้น เริ่มต้นจากการที่ได้สัมปทานทำธุรกิจทีวี โดยมีสัญญาต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงเมื่อเทียบกับทีวีดูฟรีอื่นๆ ดังนั้น ITV จึงขาดทุนเรื่อยมา ในขณะที่ทีวีอื่นๆ นั้น ทำกำไรได้อย่างงดงาม
ต่อมา ITV สามารถแก้ไขสัญญาที่ทำให้คิดว่าตนเอง สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมลดลงมากได้ จึงทำให้บริษัทสามารถแสดงผลการดำเนินงานเป็นบวก ซึ่งทำให้ราคาหุ้นของ ITV ปรับตัวขึ้นมามหาศาล แต่แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ที่บังคับให้ ITV ต้องกลับไปใช้สัญญาเดิม ครั้งหลังนี้ มีผลทำให้ ITV ต้องสูญเสียสัมปทาน ซึ่งคงทำให้บริษัทต้องหยุดดำเนินการ และหุ้นน่าจะหมดค่าลงในที่สุด และนั่นก็คือ การสูญเสียของนักลงทุน ที่ไม่ได้วิเคราะห์สถานะของสัมปทานอย่างระมัดระวัง
กิจการที่ทำธุรกิจให้บริการโทรศัพท์ทั้งหลายนั้น ต่างก็เป็นสัมปทาน และเป็นสัมปทานที่มีค่า CHARGE ที่แตกต่างกันมาก และนั่นก็คือ ที่มาว่าทำไมหุ้นของบริษัทบางแห่งมีมูลค่ามหาศาล แต่บางบริษัทก็มีมูลค่าน้อย ทั้งๆ ที่ ก็ให้บริการแก่ลูกค้าเป็นล้านๆ รายเหมือนกัน
สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ กิจการให้บริการโทรศัพท์ในขณะนี้ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ นั่นคือ การกำหนดกฎเกณฑ์ และควบคุมธุรกิจนี้ ได้เปลี่ยนจากองค์การโทรศัพท์เดิมเป็นคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. โดยที่องค์การโทรศัพท์เดิม หรือ บริษัท ทีโอที ในปัจจุบันนั้น กลับกลายเป็นเพียงผู้ให้บริการรายหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าว โอกาสที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสัญญาสัมปทานก็สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ประเทศไทย จะต้องเปิดเสรีในภาคโทรคมนาคม
ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงเรื่องการแปลงสัญญาสัมปทาน แต่เรื่องนี้ก็เงียบไป ด้วยว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ที่จะหาจุดที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ ในช่วงนี้ก็เริ่มมีประเด็นเรื่องของการต่อเชื่อมเครือข่าย ซึ่งในสาระสำคัญก็คือ ผู้ให้บริการทุกราย ไม่ว่าจะเป็นมือถือหรือโทรศัพท์บ้าน จะต้องยอมให้ผู้ให้บริการเครือข่ายอื่นต่อเชื่อมเพื่อที่ว่าโทรศัพท์ทุกเครื่อง จะสามารถติดต่อกันได้ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบไหนหรือใครเป็นผู้ให้บริการ และการต่อเชื่อมเครือข่ายนี้ จะต้องมีการคิดค่าบริการระหว่างกันหรือเรียกว่า INTERCONNECTION CHARGE ในอัตราที่เหมาะสม
ประเด็นปัญหาก็คือ ในระบบเดิมนั้น องค์การโทรศัพท์เนื่องจากเป็นผู้คุมกฎเกณฑ์ และเป็นผู้ให้สัมปทานบางส่วนด้วย ไม่ได้กำหนดเกณฑ์ในเรื่องนี้ แต่ในทางปฏิบัติก็คือ ถ้าเป็นเครือข่ายที่องค์การเป็นผู้ให้สัมปทานเอง ก็ไม่มีการคิดค่าเชื่อมเครือข่าย แต่ถ้าเป็นเครือข่ายที่การสื่อสาร หรือบริษัท กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ให้สัมปทาน ก็จะถูกคิดค่า ACCESS CHARGE ดังนั้น บริษัทอย่างเช่น DTAC นั้น เมื่อขายโทรศัพท์แต่ละเลขหมายก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการเชื่อมต่อ ให้องค์การโทรศัพท์เป็นรายเดือน ในขณะที่บริษัทอย่างเช่น AIS ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในส่วนนี้
การใช้ระบบ INTERCONNECTION CHARGE นั้น แน่นอน ย่อมมีผลกระทบในเรื่องของต้นทุนของผู้ให้บริการ เพราะทุกครั้งที่มีการเรียกสายข้ามระบบ ผู้ให้บริการต้นทางจะต้องจ่ายค่าใช้ให้กับระบบปลายทาง นี่อาจทำให้ค่าธรรมเนียม ที่บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องจ่ายตามสัญญาสัมปทาน เปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทนั้นเรียกสาย หรือรับสายมากกว่า ถ้าการเรียกสายออก และรับสายเข้าเท่าๆ กันก็จะไม่ต้องเสียค่าต่อเชื่อม
ในกรณีของ AIS นั้น เนื่องจากไม่เคยเสียค่าต่อเชื่อมอยู่แล้ว ต้นทุนในส่วนนี้ก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในกรณีของ DTAC หรือ TRUE MOVE ที่ต้องเสียค่าเชื่อมต่อปีนับเป็นพันๆ ล้านบาท ต้นทุนในส่วนนี้ก็จะลดลงไปมาก
เรื่องทั้งหมดนี้ก็ยังมีประเด็นขัดแย้งทางกฎหมายมากมาย และท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าจะใช้ระบบ INTERCONNECTION CHARGE ก็ยังไม่มีอะไรที่จะมั่นใจได้ว่า DTAC หรือ TRUE MOVE จะลดต้นทุนส่วนนี้ได้ เพราะบริษัทอาจถูกฟ้อง ตามสัญญาเชื่อมโครงข่ายเดิม ที่ทำกับบริษัท ทีโอทีได้ ดังนั้น นักลงทุนที่หวังเก็งกำไรจากการที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เงื่อนไขของสัมปทาน จะต้องระวังอย่างหนัก เดี๋ยวจะเหมือนกับกรณีของ ITV
สำหรับผมแล้ว หุ้นที่เกี่ยวกับสัมปทาน หรือหุ้นที่พึ่งพิงสัญญาหรือคำมั่นอะไรบางอย่างมาก จนถึงขนาดที่เป็นสิ่งที่ตัดสินความมั่งคั่ง หรือความอยู่รอดของบริษัทนั้น ผมจะถือว่าเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง และการที่จะลงทุน ผมจะต้องศึกษาอย่างลึกซึ้งถึงความเป็นไปได้ ที่อาจจะมีการเปลี่ยนเงื่อนไขในสัญญา และถึงที่สุด ถ้าจะลงทุน ผมก็จะต้องการ MARGIN OF SAFETY หรือความปลอดภัยสูง นั่นคือ หุ้นจะต้องค่อนข้างถูกกว่าพื้นฐานมาก เหตุผลก็คือ ไม่ว่าจะวิเคราะห์อย่างระมัดระวังแค่ไหน โอกาสที่จะเกิดในสิ่งที่ไม่คาดคิดนั้น มีอยู่เสมอ